Monday, April 22, 2013

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเอาแต่ใจ




    เด็กที่เอาแต่ใจตนเองจะเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมอ่อนกว่าวัย คิดและทำอะไรเพื่อตัวเองเท่านั้น มีการเรียกร้องสูง ไม่ค่อยนึกถึงคนอื่น คอยไม่ได้ และจะลงท้ายด้วยการอาละวาด เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ แต่คุณแม่ก็มีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจได้ ด้วยวิธีง่ายๆ ค่ะ

  • อย่าให้การแสดงอารมณ์ร้ายของลูกได้ผล คุณแม่ต้องแยกให้ออกว่าลูกร้องไห้เพราะอะไร เจ็บปวดหรือหิวหรือกลัว ถ้าใช่ก็ให้รีบตอบสนองทันที แต่ถ้าร้องเพราะเรื่องอื่นที่ไม่เป็นอันตราย หรือร้องเพื่อแสดงความต้องการที่ไม่จำเป็นนัก หรือแสดงอารมณ์ร้ายเท่านั้น เด็กบางคนถึงกับกลั้นหายใจ นอนดิ้น ตะโกนเสียงดังหรือกระแทกประตูอย่างแรง ก็ให้คุณแม่เฉยไว้ และคอยดูอยู่ห่างๆ หรือถ้าเขาอยู่ในที่ปลอดภัย ก็อาจจะให้เขาอยู่ตามลำพังแสดงอารมณ์จนพอใจ แล้วเขาจะหยุดเอง จึงค่อยพูดกับลูกว่าทำไมถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้
  • กำหนดกฎเกณฑ์หรือขอบเขตให้ลูก เวลาที่จะให้ลูกเล่นหรือทำอะไร ควรมีขอบเขตจำกัดไว้เสมอ เพื่อให้ลูกฝึกหัดเผชิญกับข้อห้ามและข้อบังคับ คุณแม่ไม่ควรใช้คำว่า อย่ามากเกินไป เพราะถ้าเด็กขยับไปทางไหนก็จะได้ยินแต่คำว่า อย่าเขาก็จะไม่เข้าใจ ควรใช้คำว่าอย่าเท่าที่จำเป็นหรือเห็นว่าเป็นอันตราย เพราะเด็กต้องการเรียนรู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ เพื่อจะทำให้เขาควบคุมตัวเองได้และมีระเบียบวินัยมากขึ้นค่ะ 
  • สมาชิกในบ้านทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับกฎที่ตั้งไว้ กฎทุกข้อที่ตั้งขึ้นสำหรับลูก ต้องทำให้เคร่งครัดและให้ความร่วมมือกันทุกคนอย่างเช่น ต้องเข้านอนตามกำหนด กฎเหล่านี้เด็กจะต้องปฏิบัติโดยไม่มีข้อต่อรอง ส่วนการตัดสินใจนั้น เด็กควรมีสิทธิ์ตัดสินใจเองในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขาเอง เช่น จะใส่เสื้อตัวไหน จะเล่นของเล่นชิ้นใด คุณแม่จะต้องทำให้ลูกเข้าใจว่าอะไรที่เขาเลือกได้ อะไรที่ต้องทำตามกฎ และต้องเป็นกฎที่ทุกๆ คนในบ้านปฏิบัติต่อเด็กเหมือนๆ กันค่ะ
     คุณแม่ควรปฏิบัติต่อลูกด้วยหลักการที่มีเหตุผล ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้และเลียนแบบจากการปฏิบัติของคุณพ่อคุณแม่ จนในที่สุดเขาก็จะเอาแต่ใจตนเองลดน้อยลง และกลายเป็นเด็กที่ยอมฟังเหตุผลมากขึ้นค่ะ


แหล่งที่มา http://www.enfababy.com

No comments:

Post a Comment