Friday, December 6, 2013

ทำไงดี ! จอมซ่าส์อาละวาดนอกบ้าน




            เมื่อก่อนก็ออกจะเป็นเด็กน่ารัก แม่พูดอะไรก็เชื่อ แต่ทำไมเดี๋ยวนี้พูดอะไรก็ไม่ฟัง ไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาดร้องลั่นชักดิ้นชักงอ อยู่ที่บ้านก็ฝึกกันได้หรอกนะ แกล้งทำเป็นไม่สนใจเดี๋ยวเหนื่อยก็หยุดเอง แต่เวลาอาละวาดกลางห้างหรือที่สาธารณะนี่สิ ทั้งเครียด ทั้งโกรธ ทั้งอาย แล้วเจ้าตัวดีก็เหมือนจะรู้ด้วยนะว่าถือไพ่เหนือกว่า แม่ต้องยอม ยิ่งนับวันเลยยิ่งทำบ่อย ถึงเวลาจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างจริงจังแล้ว

เมื่อเจ้าตัวแสบอาละวาด

          
 เด็กสามารถอาละวาดต่อรอง ชักดิ้นชักงอ หรือสารพัดพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ตั้งแต่ที่เขาเริ่มที่จะต่อรองเป็น นั่นก็คือวัยประมาณ 1 ปีขึ้นไป สังเกตง่าย ๆ ว่า แม้จะยังพูดจาต่อรองเอาสิ่งที่ต้องการยังไม่ได้ แต่เขาจะมีพฤติกรรมของการต่อรองออกมา เช่น ถือของชิ้นหนึ่งไว้ในมือ เมื่อแม่ขอ เขาจะชักมือหนีไม่ยอมเอาให้ นั่นแน่ เห็นไหมเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ยอมฟังแม่เหมือนตอนเล็ก ๆ แล้ว

          
วัยที่เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมากที่สุด มีการเรียกร้อง ต่อปากต่อคำจนนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะได้นั่นก็คือ ในช่วงวัย 2 ปี เป็นธรรมชาติของเด็กทั่วโลกเลยค่ะ จนเกิดคำขนานนามช่วงวัยนี้ขึ้นมาว่า "Tembie Two" ซึ่งอาการนี้จะเป็นมากเป็นน้อย และเป็นไปจนถึงช่วงวัยไหน ก็อยู่ที่การจัดการกับปัญหาและปลูกฝังลักษณะนิสัยให้กับเขาของคุณพ่อคุณแม่ ค่ะ ถ้ารับมือได้ดี สัก 3 ปี ก็อาจจะหายไป แต่ถ้าจัดการไม่ได้ เอะอะตามใจ เอะอะยอมลูก ก็ทำใจไว้เลยว่าจะเป็นไปจนถึง 5 ปี เป็นอย่างต่ำ หรือหนักสุดก็ คือกลายเป็นนิสัยติดตัวไปตลอดชีวิต !

          
 สังเกตไหมคะว่าเจ้าตัวดีเขาจะไม่ได้อาละวาดเมื่ออยู่คนเดียวนะ แต่จะจัดชุดใหญ่ เมื่อมีผู้รับชม รับฟัง และคนนั้นเป็นคนที่เราคุ้นเคย มีผลกับการอาละวาดของเขา เช่น จะให้ของที่เขาต้องการเมื่ออาละวาดจะปล่อยให้เล่นของเล่นนี้ต่อเมื่อร้องไห้ ฯลฯ

          
 ขั้นตอนการอาละวาดของเด็กมักจะไม่พ้น... ตะโกน กรีดร้อง ร้องไห้ เตะ เกร็งแขนขา ทิ้งตัวลงเกลือกกลิ้ง และวิ่งหนี...เมื่อต้องการหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ คุณควรรีบทำตั้งแต่พฤติกรรมแรก ๆ เพราะยิ่งเข้าขั้นตอนลึก ๆ เข้าก็ยิ่งจัดการยาก

สิ่งกระตุ้นทำลูกดื้อ


          
เรียกร้องความสนใจ เมื่อ ออกนอกบ้านมาอยู่ในที่สาธารณะ ผู้คนช่างมากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เขาก็ยังอยากเป็นที่ 1 ของพ่อและแม่ แล้วพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมช่างทำให้พ่อแม่หันมามองแล้วพุ่งตรงมาหาเขาเร็ว มากซะด้วยสิ

          
เรียกร้องสิ่งที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกอม ของเล่น หรือของของเพื่อนคนอื่น ๆ แต่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่อนุญาตหรือไม่ได้ในตอนนั้นจึงทำให้เขาไม่พอใจ

          
อยากแสดงให้เห็นว่าหนูช่วยเหลือตัวเองได้ ยิ่งโตยิ่งอยากทำอะไรเอง แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะทำได้หรือไม่ได้ก็เถอะ เช่น กินเอง เลือกของเล่นหรือเสื้อผ้าที่จะซื้อของเขาเอง ถ้าแม่ไม่ยอม ไม่ว่าจะด้วย เจตนาดีขนาดไหน แต่เขาก็จะคับข้องใจว่าเขาไม่ได้ทำสิ่งนั้นด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งถ้าไม่เก็บไว้ในใจก็ต้องแสดงออกมา

          
ความอิจฉา พบบ่อยมากในพี่ที่มีน้อง ก่อนที่จะมีน้องพ่อแม่ดูแลเรา ตามใจเรา จูงมือเรา อุ้มเรา แต่พอมีน้องพ่อแม่กลับไปสนใจน้องมากกว่า ก็ต้องออกอาการบ้าง เป็นธรรมดา

          
บรรยากาศไม่คุ้นชิน เด็กเล็กไม่สามารถรับมือกับบรรยากาศที่ต่างไปจากทุกวัน เช่น การออกไปเที่ยวนอกบ้าน งานวันเกิดหรือสถานที่ที่มีคนแปลกหน้าเยอะ ๆ ได้

10 วิธีรับมือลูกป่วนนอกบ้าน

          
1.ทำตัวสบาย ๆ ถึงแม้เจ้าตัวแสบจะเริ่มป่วน เมื่อลูกสร้างสถานการณ์เครียดแล้ว เราต้องเอาสถานการณ์ชิลล์เข้าสู่ ทำให้เขารู้สึกว่าแม่ไม่ได้กดดันหรือจะทำตามที่เขาต้องการ การโวยวายหรือชักดิ้นชักงอไม่สามารถทำให้เขาบรรลุสิ่งที่ต้องการได้

          
2.ปล่อย ๆ ไปบ้าง ด้วยวัยของเขาที่ช่างสงสัย ช่างสังเกต ช่างสำรวจ การห้ามมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดเรื่องได้ ปล่อยให้เขาได้เดินไปยังที่ที่เขาต้องการบ้าง หยิบจับของที่เขาสนใจบ้าง เราก็แค่ดูแลว่าจะเกิดอันตรายใด ๆ ก็พอ

          
3.งดใช้คำว่า "อย่า" แล้วเลี่ยงไปใช้คำว่า ไว้เราค่อยมาทีหลัง หรือไว้โอกาสหน้าเราค่อยมาซื้อแทน

          
4.อย่าละเลย สิ่ง ที่เด็กต้องการมากที่สุดก็คือความรักความเอาใจใส่จากพ่อแม่ บ่อยครั้งที่เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากเรา ต้องแก้ให้ตรงจุด แล้วอาจตกใจว่าจริง ๆ แล้วมันแก้ได้ง่ายขนาดนี้เลยเหรอ

          
5.สัญญาณลูกเครียด เขาอาจจะไม่ชินกับคนเยอะ ๆ หรืองานเลี้ยงที่ใคร ๆ สนุก ลูกอาจรู้สึกว่าหนูไม่ชอบ เมื่อต้องพาเขาไปเจอสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เขาไม่คุ้นชิน อย่าลืมที่จะรีบสังเกตอาการเขาว่ามีอะไรแปลก ๆ หรือเปล่า เช่น นิ่งเงียบ นั่งก้มหน้า ตัวเกร็ง ต้องเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวเขามาแหมะกับตัวคุณแม่ไว้ตลอดเวลา

          
6.จดบันทึก ลองจดเล่น ๆ ดูว่าลูกอาละวาดหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเมื่อไร คุณอาจเห็นจุดร่วมบางอย่างแล้ว พอจะเดาทางออก เช่น เมื่ออยู่ในที่ที่มีเด็กวัยเดียวกัน หรือบางครั้งคุณอาจพบว่าเป็นสาเหตุง่าย ๆ ว่าเขาง่วงหรือหิวแค่นั้นเอง

          
7.เราพวกเดียวกัน เมื่อ ลูกเริ่มโกรธ เมื่อไม่ได้ดั่งใจ บอกเขาว่า "แม่รู้ว่าตอนนี้หนูโกรธ" "แม่รู้ว่าหนูอยากได้มาก" เพื่อให้เขารู้สึกว่าเราเข้าอกเข้าใจและเป็นพวกเดียวกับเขา จากพฤติกรรมที่รุนแรงก็จะลดน้อยลง เผลอ ๆ อาจจบลงด้วยการพูดจากันดี ๆ ก็เราเป็นพวกเดียวกันแล้วนี่นา

          
8.เป็น Role Model ให้ลูก ลูกเฝ้าสังเกตทุก ๆ พฤติกรรมของคุณ ทำให้เขาเห็นว่าเมื่อต้องการอะไร พฤติกรรมที่เหมาะสมที่ควรทำคือยังไง ไม่ใช่พอไม่พอใจเราก็เกรี้ยวกราดแล้วบอกลูกว่าให้พูดดี ๆ แบบนั้นไม่มีทางที่ลูกจะทำได้แน่ ๆ

          
9.อารมณ์ขันช่วยได้เสมอ อารมณ์ขันมักช่วยให้สถานการณ์ร้าย ๆ ดีขึ้น ลองหัวเราะแล้วพูดว่า "สงสัยแม่ต้องลงไปนอนกลิ้งบนพื้นเหมือนหนูแล้วมั้ง ท่าทางสนุกดี" หรือเอามือจั๊กจี้ก็ได้ผลดี แต่ต้องทำตั้งแต่ตอนตั้งท่าจะอาละวาดเลยนะ

          
10.อย่างลงโทษตอนกำลังของขึ้น ลอง นึกว่าเป็นเราเอง เวลาของขึ้นแล้วใครเข้ามาขวางก็พังราบเป็นแถบ ๆ ไปทั้งนั้น เด็กก็เหมือนกัน ถ้าจะดับไฟต้องรีบดับตั้งแต่เริ่มกรุ่น ๆ แต่เมื่อไฟติดแล้ว ลงไปชักดิ้นชักงออาละวาดแล้ว อย่าเข้าไปขวางซึ่งเดินหนีออกไป ให้เขารู้ว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลเมื่อเขาสงบลงค่อยมานั่งคุยหรือตกลงกัน

           ลูกอาละวาด อาจดูเป็นเรื่องน่าปวดหัว และยุ่งยากใจ แต่สิ่งที่คุณต้องท่องให้ขึ้นใจคือ ต้องมีสติและมั่นคง อย่าไปตกในเกมที่ลูกจัดมา ดึงเขามาเข้าทางเรา ลูกเราแท้ ๆ ทำไมแค่นี้จะจัดการไม่ได้ จริงไหมคะ

เรื่อง : Super Momy
แหล่งที่มา  http://baby.kapook.com, modernmom
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment