Monday, December 29, 2014

ลูกอ้วน เรื่องใหญ่ต้องรีบแก้




         การที่ลูกมีความสุขกับการกิน Enjoy Eating กินเก่ง กินตลอดเวลานั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะทำให้เป็นโรคอ้วน ซึ่งทำให้มีผลเสียต่อร่างกายและเป็นโรคอื่น ๆ อีกมากมายตามมาครับ

5 เรื่องต้องรู้ ถ้าปล่อยให้ลูกอ้วน

          มีคนจำนวนมากคิดว่าเด็กอ้วนน่ารัก แข็งแรง และจะหายเองเมื่อเด็กโตขึ้น ? : แต่จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 10-20 ของทารกที่อ้วนเมื่อโตขึ้นจะเป็นเด็กอ้วน ร้อยละ 40 ของเด็กอ้วนเมื่อโตขึ้นจะเป็นวัยรุ่นที่อ้วน และร้อยละ 75-80 ของวัยรุ่นที่อ้วนจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน แสดงว่าเด็กอ้วนจะไม่หายและมีปัญหาเป็นโรคอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

          เสี่ยงโรคต่าง ๆ และปัญหาสุขภาพที่ตามมา : เด็กที่อ้วนเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะมีอัตราการเสียชีวิตโดยทั่วไปและเสีย ชีวิตเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วนถึง 2 เท่า

          นอกจากนั้นเสี่ยงกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแข็งและตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงและกล้ามเนื้อหัวใจตาย เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงหรือหลอดเลือดสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์และเสียชีวิตได้ ไขมันพอกตับทำให้ตับอักเสบ แข็งและวายจนเสียชีวิตได้ โรคนิ่วในถุงน้ำดี รวมไปถึงการที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูงคล้ายกับการมีเนื้องอกในสมอง (Psuedotumor Cerebri) ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน

          นอนกรน : หยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnoea) จนทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ มีผลเสียต่อร่างกาย สมอง หัวใจและปอดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          ผลเสียต่อกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ :
เนื่องจากการที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

          ผลเสียด้านจิตใจ :
เป็นปมด้อย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึมเศร้า และอาจทำให้มีปัญหาพฤติกรรมการกินได้

เตรียมรับมือ จัดการโรคอ้วน !

          โรคอ้วนจึงไม่ใช่โรคของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นโรคที่เป็นตั้งแต่วัยเด็กแล้วมีการสะสมของไขมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามหลอดเลือด หัวใจ สมอง ตับและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายจนกระทั่งถึงจุดที่จะแสดงอาการของโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โรคอ้วนในเด็กจึงเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงมากกว่าที่เราคิด

เลี้ยงลูกไม่ให้อ้วน

         1. นมแม่ดีที่สุด ให้ลูกกินนมแม่นานอย่างน้อย 6 เดือน

         2. ไม่ให้กินจุบจิบ พ่อแม่บางคนกังวลว่าลูกจะหิว เลยหาขนม ของว่างปรนเปรอเด็กและคะยั้นคะยอให้ลูกกินทั้งที่ลูกไม่ได้ขอ ทำให้ลูกกินอาหารเกินความต้องการและติดนิสัยกินมาก

         3.ไม่ ซื้อขนม และอาหารสะสมไว้ในบ้าน เพราะเมื่อมีของเหล่านี้อยู๋ในบ้านมาก ลูกจะไม่สามารถยับยั้งความอยากกินได้ ก็จะกินบ่อยตลอดเวลา ครั้งละมาก ๆ และหมดในเวลารวดเร็ว ทำให้มีน้ำหนักเกินเป็นโรคอ้วนในที่สุด

         4. สอนลูกให้กินผักและผลไม้จนเป็นนิสัย เพื่อที่ลูกจะได้กินแทนขนมและของว่าง

         5. สอนลูกให้มีวินัยการกิน กินอาหารเป็นเวลา ตักอาหารพอดีกิน ไม่เตรียมอาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการกินแบบไม่ยั้ง สอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและกินพอดีอิ่ม

         6. ไม่สอนให้ลูกกินอาหารรสจัด ไม่ปรุงรสอาหารด้วยน้ำตาลทราย น้ำปลาและพริก เพราะจะทำให้ลูกติดอาหารรสจัดซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน อ้วน และความดันโลหิตสูง

         7. ให้ลูกดื่มนมแต่พอดี พ่อแม่บางคนเข้าใจผิดให้ลูกดื่มนมมาก ๆ เพื่อต้องการให้ลูกได้แคลเซียมมาก ๆ จะได้ตัวสูง แต่การดื่มนมมากเกินไป ดื่มเป็นลิตรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ทำให้เด็กสูงมากขึ้นแต่กลับเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ เด็กอายุเกิน 1 ขวบ ควรให้เลิกนมมื้อกลางคืนและเลิกดูดขวดนม ควรให้ดื่มนมจากแก้วหรือกล่อง เด็กควรกินนมวันละ 2-3 มื้อ

         8. ลดกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ ซึ่งมักจะมีการกินขนมจุบจิบขณะนั่งดูด้วย เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูโทรทัศน์ ส่วนเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบควรจำกัดการดูโทรทัศน์รวมกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรมีโทรทัศน์ในห้องนอน

         9. สร้างนิสัยการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬา เช่น การทำงานบ้านร่วมกับครอบครัว เดิน-ขี่จักรยานแทนการนั่งรถเดินขึ้นลงบันได เป็นต้น

         10. ดูแลน้ำหนักตัว รวมถึงดูแลดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) ไม่ให้เกินมาตรฐาน

ปรับพฤติกรรมช่วยลดอ้วน

          1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้กินอาหารปริมาณลดลงและให้เหมาะสม ได้แก่ การงดกินอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมัน ครีม นม เนยและน้ำตาลปริมาณสูงเพื่อให้ได้รับพลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายใช้ ร่างกายก็จะไปย่อยสลายไขมันที่สะสมอยู่มาใช้เป็นพลังงาน น้ำหนักตัว ไขมันและความอ้วนจึงจะลดลง

          2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวิถีชีวิต เช่น ทำงานบ้าน ซักผ้าด้วยมือ ขุดดิน รดน้ำต้นไม้ เดินขึ้นบันได ขี่จักรยาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

          3. เป็นแบบอย่างที่ดี พ่อ แม่ และทุกคนในครอบครัวที่ดูแลเด็ก เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา พี่เลี้ยงเด็กต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เด็กเห็นและปฏิบัติตาม และที่สำคัญจะต้องร่วมมือในการดูแล รักษาเด็กทุกคนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งเข้มงวด อีกคนตามใจ การรักษาจึงจะได้ผลดี

          ที่สำคัญการรักษาต้องทำทั้ง 3 วิธีดังกล่าวไปพร้อม ๆ กันจึงจะได้ผลดี แต่เนื่องจากการรักษาโรคอ้วนเมื่อเป็นแล้วจะทำได้ยากมาก และมีอัตราความล้มเหลวสูง จึงควรหาทางป้องกันไม่ให้เป็นจะดีกว่าการรักษา

เรื่อง : รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์
แหล่งที่มา  modernmom, http://baby.kapook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment